วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ลีลาศ

                   ลีลาศ หมายถึงการเต้นเพื่อความสนุกสนานและได้พบกับบุคคลอื่นๆ ในสังคมในงานสังสรรค์ หรืองานราตรีสโมสร ลีลาศนี้ มีมานับเป็นพันๆ ปีแล้ว แต่เพิ่งมีหลักฐานแน่ชัดเมื่อประมาณ ปี ค.ศ.1400 ซึ่งได้อธิบายถึงการก้าวเดิน และดนตรีการเต้นรำแบบบอลรูม (Ballroom Dancing) เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างชาติและเผ่าพันธุ์ต่างๆ ถึงแม้ว่าชาวตะวันตกจะนิยมกันอย่างมาก แต่การเต้นรำแบบบอลรูมก็เป็นที่ยอมรับของชนทุกชาติ

ความรู้พื้นฐานในการเต้นลีลาศ

ในการฝึกลีลาศ จะต้องคำนึงถึงทักษะเบื้องต้นของการลีลาศเป็นอันดับแรก และจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ฝึกหัดจนเกิดความชำนาญ หากละเลยถึงหลักและทักษะเบื้องต้นจะทำให้ผู้ฝึกลีลาศขาดความก้าวหน้า และไม่มีศิลปะของการลีลาศอย่างแท้จริง ทักษะเบื้องต้นของการฝึกลีลาศเพื่อให้เกิดความชำนาญ มีดังนี้
โครงสร้างของดนตรีประกอบด้วย
1. จังหวะ (beat) หมายถึง เสียงที่เกิดขึ้นและตกบนตัวโน้ตทุกตัว หรือหมู่ของเสียงที่ทำให้เกิดจังหวะขึ้นในห้องเพลง โดยปกติจะตกบนตัวโน้ตตัวแรกของห้องเพลง เช่น จังหวะ 2/4 จังหวะ 3/4 หรือจังหวะ 4/4
2. เสียงเน้น (Accent) หมายถึง เสียงที่เคาะลงบนจังหวะ จะได้ยินชัดเจนมากกว่าเสียงเคาะในห้องเพลง โดยปกติจะตกบนตัวโน้ตตัวแรกของห้องเพลง
3. ห้องเพลง (bar) หมายถึง กลุ่มของจังหวะที่ประกอบกันขึ้นเป็นช่วงหรือตอนปกติจะอยู่ระหว่างเสียงเน้นเสียงหนึ่งกับเสียงเน้นอีกเสียงหนึ่ง
4. ความเร็ว (Tempo) หมายถึง อัตราความเร็วของดนตรีที่บรรเลงโดยใช้เวลาเป็นตัวกำหนด เช่น ใน 1 นาทีจะบรรเลงกี่ห้องเพลง การหัดฟังจังหวะดนตรีควรเลือกฟังจากดนตรีที่มีเสียงชัดเจน ฟังง่าย ถ้าเป็นดนตรีจังหวะ 2/4 จะได้ยินเสียงเคาะลงบนจังหวะ 2 จังหวะใน 1 ห้องเพลง เสียงที่ได้ยินแต่ละครั้งใน 1 ห้องเพลงนั้น จะมีเสียงหนึ่งเป็นเสียงหนักและอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงเบาต่อเนื่องกันไปทุก ๆ ห้องเพลง การฝึกนับจังหวะจะนับ 1 2 , 1 2 , 1 2 ………… ไปเรื่อย ๆ จนจบเพลง

ทิศทางในการลีลาศ (Line of Dance)
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ทิศทางทวนเข็มนาฬิกา (Counter Clockwise) เป็นทิศทางของการลีลาศซึ่งถือเป็นสากล ดังนั้นในการลีลาศจะต้องลีลาศไปในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งเป็นการป้องกันมิให้ลีลาศไปชนกับคู่อื่น ทิศทางนี้เรียกว่า แนวลีลาศ” (Line of Dance) ซึ่งนิยมเรียกกันด้วยคำย่อว่า L.O.D.
การลีลาศในแต่ละจังหวะหรือแต่ละลวดลาย (Figure) มีการเริ่มต้นและสิ้นสุดในทิศทางที่แตกต่างกัน ผู้ฝึกลีลาศจึงควรทำความเข้าใจ เกี่ยวกับทิศทางการเคลื่อนที่ในการลีลาศให้ถูกต้องเสียก่อนจะทำให้สามารถฝึกลีลาศได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตามเทคนิคของการลีลาศ ตำแหน่งการยืนในการลีลาศ (Position of Stand) จะสัมพันธ์กับทิศทางที่ผู้ลีลาศหันหน้าไปในทิศทางต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ 8 ทิศทาง การเรียกชื่อตำแหน่งที่ยืนจะเรียกตามทิศทางที่หันหน้าไป ดังนี้
        1. ยืนหันหน้าตามแนวลีลาศ (
Facing Line of Dance)
        2. ยืนหันหน้าย้อนแนวลีลาศ (
Facing Against Line of Dance)
        3. ยืนหันหน้าเข้ากลางห้องหรือกลางฟลอร์ (
Facing Centre)
        4. ยืนหันหน้าเข้าฝาห้อง (
Facing Wall)
        5. ยืนหันหน้าเฉียงกลางห้องตามแนวลีลาศ (
Facing Diagonally of Centre)
        6. ยืนหันหน้าเฉียงฝาตามแนวลีลาศ (
Facing Diagonally of Wall)
        7. ยืนหันหน้าเฉียงฝาย้อนแนวลีลาศ (
Facing Diagonally of Wall Against Line of Dance)
        8. ยืนหันหน้าเฉียงกลางห้องย้อนแนวลีลาศ (
Facing Diagonally of Centre Against Line of Dance)

ที่มา: http://www.oknation.net/blog/health-stnb/2011/01/12/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น